คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านกฎหมายแรงงาน (Labour Law Research Network: LLRN) ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2568
Labour Law Research Network เป็นเครือข่ายการวิจัยด้านกฎหมายแรงงานระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดการประชุมวิชาการเป็นประจำทุก 2 ปี ซึ่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในทวีปเอเชียที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม LLRN ครั้งที่ 7 ในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 330 คน จากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ทั้งนักวิชาการ นักวิจัย นักกฎหมาย ผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตัวแทนจากองค์กรนอกภาครัฐ ตลอดจนนักศึกษาปริญญาเอกที่สนใจด้านกฎหมายแรงงาน
ในการประชุม LLRN ครั้งที่ 7 นี้ ศาสตราจารย์ ดร. วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาฯ ได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมร่วมกับ Professor Dr. Tamás Gyulavári ประธานกรรมการ LLRN โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. ปานทิพย์ พฤกษาชลวิทย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และประธานจัดการประชุม LLRN ครั้งที่ 7 เป็นผู้กล่าวรายงานการจัดการประชุม ในช่วงค่ำ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการร่วมกับคุณ Chisako Takaya ตำแหน่ง Co-managing partner จากบริษัท Chandler Mori Hamada ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอาหารค่ำ
การประชุมเสนอผลงานวิชาการครั้งนี้แบ่งออกเป็น 75 กลุ่มย่อย และนำเสนอแบบคู่ขนานตลอดระยะเวลา 2 วันเต็ม มีผู้นำเสนอผลงานกว่า 300 คน ทั้งหัวข้อด้านประวัติศาสตร์กฎหมายแรงงาน ทฤษฎีและวิธีวิทยาการวิจัยกฎหมายแรงงาน แนวโน้มกฎหมายแรงงานในยุคใหม่ ตลอดจนปัญหาแรงงานด้านต่าง ๆ เช่น ปัญหาการจ้างงานในยุคดิจิทัล ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการจ้างงาน และปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการจ้างในห่วงโซ่อุปทาน จึงนับว่าการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมวิชาการด้านกฎหมายแรงงานที่สำคัญและหลากหลายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงานจากทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วมการประชุม
อนึ่ง คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ระดมทุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สหภาพยุโรป สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และสวีเดน รวมทั้งศูนย์วิจัยกฎหมายแรงงานของมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านกฎหมายแรงงาน ซึ่งได้แก่ European University Viadrina Frankfurt, University of Tokyo และ University of Melbourne เพื่อจัดสรรให้เป็นทุนค่าเดินทางและค่าเข้าร่วมงานสำหรับผู้ที่มาจากประเทศกำลังพัฒนาจำนวน 41 ทุน จาก 21 ประเทศทั่วโลก จึงทำให้การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากและหลากหลายอย่างแท้จริง
การจัดประชุมนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านนิติศาสตร์ซึ่งมีความพร้อมทั้งทางวิชาการและทรัพยากรในระดับนานาชาติ