ภาพรวมหลักสูตร

หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตเปิดสอนมาตั้งแต่พ.ศ. 2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีความรู้ทางนิติศาสตร์เฉพาะด้านอย่างลึกซึ้ง สามารถค้นคว้าวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเองเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้เจริญก้าวหน้า ดังนั้น หลักสูตรนี้จึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนศึกษาวิจัยประเด็นปัญหาทางกฎหมายในเชิงลึกตามที่ผู้เรียนสนใจภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของอาจารย์ที่ปรึกษาและคณะกรรมการบริหารหลักสูตร นอกจากนี้ ผู้เรียนยังจะได้รับความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับหัวข้อที่สนใจโดยตรง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ที่เข้าศึกษาในหลักสูตรได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยประเด็นปัญหาทางกฎหมายหลากหลายสาขาทั้งกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ วิทยานิพนธ์แต่ละเล่มล้วนได้รับการชี้แนะและกลั่นกรองจากคณะกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ทั้งจากภายในและนอกมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นหลักประกันว่างานค้นคว้าวิจัยมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ จนถึงปัจจุบัน หลักสูตรได้ผลิตดุษฎีบัณฑิตไปรับใช้สังคมในสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้พิพากษา ตลอดจนนักกฎหมายในองค์กรภาครัฐและเอกชน

โครงสร้างหลักสูตร

การศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตมีระยะเวลาการศึกษาไม่เกิน 6 ปีการศึกษา จำนวนหน่วยกิตรวม 48 หน่วยกิต รายวิชาที่ต้องลงทะเบียนมี 6 รายวิชา ประกอบด้วย

รายวิชาที่นับหน่วยกิต

  • วิทยานิพนธ์ 48 หน่วยกิต

รายวิชาที่ไม่นับหน่วยกิต แต่มีการประเมินผล S/U

  • ภาษาอังกฤษเพื่อการวิจัยทางกฎหมายระดับดุษฎีบัณฑิต
  • ระเบียบวิธีวิจัยทางนิติศาสตร์ขั้นสูง           
  • สัมมนาทางนิติศาสตร์           
  • การสอบวัดคุณสมบัติ          
  • สัมมนาวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต

การจัดการเรียนการสอน

หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาค แบ่งออกเป็น

  • ภาคต้น  ตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนถึงเดือนธันวาคม
  • ภาคปลาย ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤษภาคม

ในปีการศึกษาที่ 1 นิสิตต้องลงทะเบียนและเข้าเรียน 3 รายวิชา ดังนี้

  • ภาษาอังกฤษเพื่อการวิจัยทางกฎหมายระดับดุษฎีบัณฑิต           
  • ระเบียบวิธีวิจัยทางนิติศาสตร์ขั้นสูง     
  • สัมมนาทางนิติศาสตร์

การรับสมัครและคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา

คุณสมบัติผู้สมัคร

1.  สำเร็จการศึกษานิติศาสตรมหาบัณฑิตจากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน  หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้การรับรอง
2.  ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง
3.  มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. มีผลสอบภาษาอังกฤษ โดยมีคะแนน CU-TEP ตั้งแต่ 45 ขึ้นไป หรือ TOEFL ตั้งแต่ 450 ขึ้นไป (หรือเทียบเท่า) หรือ IELTS ตั้งแต่ 4.0 ขึ้นไป  ทั้งนี้ ผลคะแนนต้องมีอายุไม่เกิน 2 ปี นับจากวันรายงานผลคะแนนการทดสอบจนถึงวันปิดรับสมัคร (เว้นแต่เป็นผู้ที่อาจได้รับยกเว้นคะแนนทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษตามประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง เกณฑ์คะแนนทดสอบความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษสำหรับผู้เข้าศึกษาในหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต และหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต พ.ศ. 2557 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2558)

ช่วงเวลารับสมัคร

เปิดรับสมัครปีการศึกษาละ 2 ครั้งดังนี้

  • ภาคการศึกษาต้น  (ประมาณเดือนมกราคม – พฤษภาคม)
  • ภาคการศึกษาปลาย (ประมาณเดือนกันยายน – ตุลาคม)
  • ค่าธรรมเนียมการสมัคร 2,500 บาท

วิธีการคัดเลือก

สัมภาษณ์

(รายละเอียดแจ้งในประกาศผลผู้มีสิทธิเข้าสัมภาษณ์)

จำนวนที่คาดว่าจะรับ ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2567

จำนวน 10 คน

ข้อแนะนำสำหรับผู้สนใจสมัครเข้าศึกษา

  • ผู้สมัครต้องเตรียมข้อเสนอวิทยานิพนธ์ (Thesis proposal) ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยประเด็นปัญหาที่ต้องการศึกษา วิธีการศึกษา และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
  • ผู้สมัครต้องมีงานเขียนทางวิชาการ ซึ่งอาจเป็นวิทยานิพนธ์ เอกัตศึกษา บทความ หรืองานวิชาการอื่นที่มีประเด็นทางกฎหมายที่ชัดเจน แสดงวิธีการศึกษา การวิเคราะห์ และมีการอ้างอิงอย่างถูกต้อง

ค่าธรรมเนียมการศึกษา

  • ค่าเล่าเรียน (ตามประกาศจุฬาฯ เรื่อง อัตราการเรียกเก็บค่าเล่าเรียน พ.ศ. 2562)
  • ค่าธรรมเนียมการศึกษา ภาคการศึกษาละ 22,000 บาท

ทุนอุดหนุนการศึกษา

  1. ทุนอุดหนุนการศึกษาและวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายละเอียดโปรดดู www.grad.chula.ac.th
  2. ทุนผู้ช่วยวิจัยอาจารย์ของคณะนิติศาสตร์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต

บุคลากรประจำหลักสูตร

ผู้อำนวยการหลักสูตร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โชติกา  วิทยาวรากุล

เจ้าหน้าที่หลักสูตร

นางสาวธนภร สวัสดิมงคล

ติดต่อหน่วยงาน

หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต

อีเมล lld@law.chula.ac.th
โทร. 095-367-6123
หรือ 02218-2075 (กรณีคณะนิติศาสตร์เปิดทำการ)

ข้อมูลนิสิตเก่า

ดร.ไกรพล  อรัญรัตน์

ผู้พิพากษาศาลแพ่ง


“ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้การศึกษาในระดับปริญญาเอกประสบความสำเร็จ มีอย่างน้อย 3 ข้อ  ได้แก่ การมีอาจารย์ที่ปรึกษาที่ดี การมีฐานข้อมูลวิจัยที่ดี และการมีเจ้าหน้าที่หลักสูตรที่คอยแนะนำเรื่องต่าง ๆ ปัจจัยทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมานี้  หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเตรียมไว้ให้นิสิตทุกคนอย่างครบถ้วนทำให้ผู้ศึกษาในระดับปริญญาเอกที่นี่ได้เรียนรู้วิธีวิจัยที่ถูกต้องเหมาะสมภายใต้บรรยากาศทางวิชาการที่ดีซึ่งช่วยผลักดันให้นิสิตสร้างผลงานทางวิชาการที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์แก่วงการวิชาการและภาคปฏิบัติ”

ดร.ยุทธนา สุวรรณประดิษฐ์

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกำกับดูแลฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายกำกับการปฏิบัติงาน และฝ่ายบริหารความเสี่ยง


“การศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ นอกเหนือจากความรู้ที่ผมได้รับจากคณาจารย์ที่มีความรู้และมีความเมตตา และมีเจ้าหน้าที่ที่คอยอำนวยความสะดวก และติดตามดูแลนิสิตอย่างใกลัชิด หลักสูตรนี้ได้ฝึกให้ผมพัฒนากระบวนความคิด วิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างเป็นระบบ และรู้จักรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นเพื่อหามุมมองที่หลากหลาย มีความอดทนและมีการวางแผนที่ดี ทักษะเหล่านี้ล้วนถือเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของการทำงานวิจัย และยังเป็นประโยชน์กับการทำงานและการบริหารงานของผมในภาคเอกชนและงานด้านวิชาการด้วย”

Professor Dr.Ximei Zhou

Professor of Guangxi University for Nationalities


“My time in the doctoral program at Chulalongkorn University is the three years of my life that I have gained the most and made the fastest progress. The program is well-structured consisting of compulsory courses on methodology and research seminars. These courses do not only offer solid foundation for developing doctoral students’ research skill, but are also designed to cultivate professional expertise in accordance with each student’s research interest. It is the combination of the scientific and individualized curriculum design that makes my professional and research ability progress rapidly. I am grateful for support provided by my supervisor, faculty members and classmates.”